การตั้งหิ้งพระ เทพ กุมารทองและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ครบถ้วนพร้อมอธิบาย)
เคยสังเกตมั้ยคะว่ามีบางบ้าน หรือแม้แต่บ้านเราเองก็ตาม บนหิ้งพระมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายที่เจ้าของบ้านเคารพบูชา ตั้งแต่พระพุทธรูป รูปเหมือนหลวงปู่ รูปปั้นรัชกาลต่างๆ ผ้ายันตร์ สายสิญจน์ น้ำมนต์ ฮู้ ไปจนถึงวัตถุมงคลที่ได้รับการปลุกเสกมาจากพระอาจารย์ชื่อดัง วางสะสมกันนานเข้าจนลำดับไม่ถูกว่าควรจะตั้งจัดหิ้งพระอย่างไรให้เหมาะสม เราลองมาดูกันดีกว่าว่าควรจะลำดับสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนหิ้งพระอย่างไรให้อยู่ในวาระอันเหมาะควร
การวางสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนหิ้งพระหรือโต๊ะหมู่ควรวางตามลำดับความสำคัญดังนี้ คือ
๑. พระพุทธรูป
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
๓. พระอรหันต์
เป็นพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลหรือมีประวัติอยู่ในพระสูตรหรือพระปริตร ต่างๆ หรือ พระอรหันต์ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน เช่น พระโกทัณโญ พระกัสสะโป พระสารีบุตร พระโมคคัลลาน์ พระอุบาลี พระอานนท์ พระราหุล พระควัมปติ(พระปิดตา) พระสิวลี พระสังกัจจายน์ พระบัวเข็ม หรือพระอุปคุต ฯลฯ
๔. พระอริยสงฆ์
เป็นพระสงฆ์ในปัจจุบัน เช่น หลวงพ่อโต วัดระฆัง หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส เจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส เป็นต้น
๕. รูปเหมือนสมมติสงฆ์
เป็นพระที่พุทธศาสนิกชนเคารพนับถือกันในสมัยปัจจุบัน (หลวงปู่ หลวงตา หรือ หลวงพ่อต่างๆ)
๖. พระสยามเทวาธิราช
๗. เสาหลักเมือง
๘. พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทย
ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติในช่วงเวลาต่างๆมาได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยสงครามสมัยอยุธยาหรือแม้แต่สมัยสงครามโลก ที่เราอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขทุกวันนี้ ก็ด้วยพระบารมีปกแผ่ และพระปรีชาสามารถ ของพระมหากษัตริย์ไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน อีกทั้งพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคมาจนทุกวันนี้ เช่น พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯลฯ
๙. วีรบุรุษ และวีรสตรี ของคนไทยในอดีต
วีรบุรุษและวีรสตรีผู้กล้าของคนไทยเหล่านี้ได้ยอมลำบาก ยอมเสียเลือด เสียเนื้อ เสียสละทุกๆอย่าง เพื่อให้ประเทศไทยมีเอกราช อยู่รอดปลอดภัย และประชาชนชาวไทยได้อยู่เย็นเป็นสุขมาจวบจนทุกวันนี้ เช่นพระยาพิชัยดาบหัก กรมบวรมหาสุรสิงหนาท กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ชาวบ้านบางระจัน พระนางศรีสุริโยทัยท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) ท้าวเทพสตรี ท้าวศรีสุนทร (คุณหญิงมุก คุณหญิงจัน) สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี (สมเด็จย่า) พันท้ายนรสิงห์ (เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ต่อสมเด็จพระเจ้าเสือ กษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา ซื่อสัตย์ต่อกฎมณเฑียรบาล ซื่อสัตย์ต่อกฎหมายบ้านเมือง) ฯลฯ
๑๐. แม่โพสพ แม่ธรณี พระแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์องค์ต่างๆ เทพเจ้าต่างๆ ฤาษี
ในกรณีที่มีเทพเจ้าต่างๆ พระโพธิสัตว์องค์ต่างๆ แม่โพสพ แม่ธรณี ฤาษี ควรจะจัดชั้นอีกต่างหากในโต๊ะหมู่บูชานั้น เช่น พระศิวะ พระนารายณ์ พระพรหม พระพิฆเนศ เจ้าแม่อุมา เจ้าแม่กาลี พระอินทร์ ท้าวเวสสุวรรณ ฤาษี ฮก ลก ซิ่ว โป๊ยเซียน พระโพธิสัตว์กวนอิม เป็นต้น
ในด้านเทพเจ้านั้น ต้องจัดตามลำดับดังนี้ ๑.พระศิวะ เจ้าแม่อุมา เจ้าแม่กาลี ๒.พระนารายณ์ พระลักษมี ๓.พระพรหม พระสุรัสวดี ๔.พระพิฆเนศ ๕.พระอินทร์ ๖.ท้าวเวสสุวรรณ ๗.ฤาษี ฯลฯ อีกด้านหนึ่งต้องจัดเรียงตามลำดับคือ ๑.พระโพธิสัตว์กวนอิม ๒.ฮก ลก ซิ่ว ๓.โป๊ยเซียน ฯลฯ ส่วนแม่โพสพ แม่ธรณี จัดไว้รวมกัน เหตุที่ต้องจัดแม่โพสพ แม่ธรณี พระโพธิสัตว์ต่างๆ เทพเจ้าต่างๆ มาไว้ในชั้นนี้นั้นเนื่องจาก แม่โพสพ แม่ธรณี พระโพธิสัตว์ต่างๆ เทพเจ้าต่างๆ ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทย อยู่ใต้ความเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตของวีรบุรุษและวีรสตรีของไทย จึงได้มีโอกาสในการบำเพ็ญบารมีของแต่ละองค์ได้ หากไปอยู่ยังประเทศอื่นๆ เช่น กลุ่มประเทศอาหรับ อิสราเอล ปาเลสไตล์ ฯลฯ ก็คงไม่มีโอกาส หรือถ้ามีก็มีน้อยโอกาสในการบำเพ็ญบารมีของแต่ละองค์นั้น
แต่ถ้าบ้านใหนบูชาพระราหูก็ควรจะต้องแยกท่านออกมาเพื่อตั้งโต๊ะบูชาต่างหากตามความเชื่อ ซึ่งต้องมีการจุดธูป ๑๒ ดอก บูชาด้วยของดำ ๘ อย่างและสวดบูชาทุกวันพุธหลัง ๖ โมงเย็น
๑๑. พระยายมราช
๑๒. เจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ ได้แก่ เจ้าพ่อเสือ เห้งเจีย หนุมาน นางกวัก เจ้าพ่อกวนอู ฯลฯ
๑๓. กุมารทอง ลักยม นกคุ้ม เสือ สิงห์ มังกร วัวธนู ควายธนู ฯลฯ
กรณีที่บางท่านนับถือศรัทธาสิ่งปลุกเสกที่มีคุณไสยก็สามารถจัดที่ไว้บูชาได้ แต่จริงๆ แล้วพระพุทธศาสนาไม่แนะนำให้เชื่อในสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากมีทั้งคุณและโทษ คือดูแลดีก็ให้คุณ ดูแลไม่ดีก็อาจจะให้โทษ และนำมาซึ่งความงมงาย หาใช่แนวทางแห่งการดับทุกข์อันแท้จริง ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาไม่
สำหรับบางบ้านที่ไม่สามารถจัดชั้นของโต๊ะหมู่บูชา หรือหิ้งพระให้มีลำดับชัดเจนเช่นที่กล่าวมาแล้วได้ ก็ควรจะยกพื้นให้พระพุทธรูปสูงกว่าพระ พระองค์อื่นๆ นอกจากนี้รูปภาพพระสงฆ์ไม่ควรแขวนสูงกว่าพระพุทธรูป เพราะพระสงฆ์อยู่ในลำดับที่ ๓ รองจากพระพุทธและพระธรรม แต่สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ก็คือ แม้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมีอานุภาพเพียงไร ถ้าหากอยู่ในบ้านที่เจ้าของไม่ได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่ต่างอะไรกับรูปปั้นที่วางจำหน่ายในร้านขายของเก่าซึ่งทำหน้าที่ได้ประดับไว้เพื่อความสวยงาม หามีคุณค่าในการเตือนให้เจ้าของบ้านระลึกถึงการทำความดี คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไม่
หลักสำคัญในการปฏิบัติจึงมีด้วยกัน ๒ ประการคือ อามิสบูชาบูชา หรือการบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน สิ่งของต่างๆ และปฏิบัติบูชา หรือการปฎิบัติตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่ การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ซึ่งพระพุทธองค์สรรเสริญว่าเป็นการบูชาโดยแท้จริง เมื่อนำเราทำได้ทั้งทั้ง ๒ ประการ เราก็จะได้ครบทั้ง ทาน ศีล ภาวนา อยู่ในการบูชาทุกครั้ง ดังนี้
ทาน ได้จากการซื้อดอกไม้ ธูป เทียน สิ่งของมาบูชา บางครั้งเงินของเรายังไปช่วยเด็กขายพวงมาลัย ที่เร่ร่อนขายดอกไม้ อย่าลืมเลือกดอกไม้ที่มาความสด สวยงาม สะท้อนให้เห็นความละเมียดละไมของจิตใจผู้เลือก
ศีล ระหว่างการสวดมนต์ การได้สงบไม่เบียดเบียนสรรพชีวิตทั้งหลาย พร้อมทั้งได้สมาทานศีล ก็ทำให้เราเป็นผู้มีศีล ๕ บริบูรณ์
ภาวนา คือกิริยาของการสวดมนต์ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นกุศลอันสูง
การสวดมนต์บูชาพระ จึงเป็นการปฏิบัติธรรม หรือการทำความดีอย่างง่ายๆ อยู่กับบ้าน ที่ทำให้หิ้งพระของเรามีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเจ้าของบ้านหมั่นรักษา กาย วาจา ใจ ให้ศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอนั่นเอง
การจุดธูป เทียน บูชาพระ ให้ใช้ ปัญญา พิจารณาดังนี้
๑. ก้านธูปที่จุดบูชาพระ อย่าสะสม นั่นคือเชื้อไฟอย่างดี เป็นเหตุให้ไฟไหม้บ้านเรือนที่อยู่อาศัย
๒. การปักธูปลงในกระถาง ระวังธูปล้มหรือเอียง
๓. วัสดุในกระถางธูป ควรจะเป็นทรายละเอียด ล้างน้ำแล้วตากแห้ง แทนที่จะเป็นข้าวสาร หรือวัสดุอื่นๆ เพราะจะปักธูปได้แน่นกว่า
๔. ดับเทียน เมื่อท่านสวดมนต์ไหว้พระเสร็จแล้ว อย่าปล่อยให้หมดโดยไม่มีคนเฝ้า อาจเป็นชนวนเหตุให้ไฟไหม้ การดับเทียน ควรจะใช้มือหรืออุปกรณ์อื่น เช่น พัด ฯลฯ พัดเทียนให้ดับ ไม่ควรใช้ปาก เป่าเทียนให้ดับ
๕. ใช้ภาชนะรองรับกระถางธูป เชิงเทียนไว้จะเป็นการดี เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราท่านก็ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพราะพระท่านสอนให้ใช้ปัญญา
๖. การบูชาพระด้วยพวงมาลัย ควรใส่พาน จาน หรือถาด นำไปวางที่หิ้งหรือหน้าที่บูชาพระ ไม่ควรคล้องคอ ดูไม่งาม ไม่เหมาะสม
๗. หากท่านออกนอกเคหะสถาน ไม่สะดวกในการจุดธูปเทียนบูชาพระ ก็ให้สวดมนต์ภาวนาในใจ เมื่อกลับบ้านในตอนเย็นหรือค่ำ ก็ควรจะสักการะท่านด้วยธูปเทียน ถ้าหากเดินทางไปค้างแรมต่างถิ่นต่างที่ ก็ให้สวดมนต์ภาวนาเอาเถิด
๘. ควรจุดเทียนทั้งสองเล่มก่อน แล้วจึงเอาธูปจุดต่อจากเปลวเทียน
หวังว่าการจัดตั้งหิ้งให้ถูกลำดับ ถูกทิศ และการบูชาที่ถูกวิธี คงจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่าน ไม่มากก็น้อย จำไว้ว่าความศักดิ์สิทธิ์ของพระจะเกิดได้ อยู่การปฏิบัติของผู้บูชาสำคัญ เพราะท้ายที่สุด ต่อให้หิ้งพระไม่สวย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มีการจัดลำดับ แต่เจ้าของสวดมนต์ ไหว้พระ ทำสมาธิ ถือศีล ๕ ไม่บกพร่อง ธรรมะและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ย่อมรักษาตัวผู้นั้นอยู่ดี
Tags: การตั้งหิ้ง, การตั้งหิ้งพระ เทพ กุมารทองและสิ่งศักดิ์สิทธิ์, การเลี้ยงกุมาร, การไหว้พระ